อาหารเด็กบางประเภทอาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมอง เสริมสร้างให้สมองของเด็กทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอาจช่วยพัฒนาความจำและสมาธิของเจ้าตัวเล็กได้ แต่อาหารที่ช่วยบำรุงสมองและเสริมสร้างความฉลาดให้แก่ลูกน้อยจะมีอะไรบ้างนั้น คุณพ่อคุณแม่ศึกษาได้จากข้อมูลต่อไปนี้
สารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการสมองของลูกน้อย
สารอาหารที่ได้จากการรับประทานอาหารหลัก 5 หมู่นั้นสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กและพัฒนาการด้านสติปัญญา เนื่องจากในช่วงปีแรกของชีวิต การเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ สารอาหารอื่น ๆ ก็มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการสมองของเจ้าตัวเล็กด้วย เช่น
1. ธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารสำคัญสำหรับพัฒนาการสมองและความสามารถด้านกระบวนการคิด ซึ่งธาตุเหล็กที่พบในอาหารมี 2 รูปแบบ คือ ธาตุเหล็กในรูปฮีม (Heme Iron) ที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ง่าย พบในเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา และธาตุเหล็กในรูปอื่น ๆ (Non-Heme Iron) พบได้ในธัญพืช ซีเรียล ขนมปัง ผัก และผลไม้แห้ง เช่น ลูกเกด และแอพริคอต เป็นต้น โดยเด็กอายุ 1-2 ปี ควรรับประทานเนื้อสัตว์และอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน 0.5 ส่วน/วัน หรือประมาณ 45 กรัม ส่วนเด็กอายุ 3-6 ปี ควรรับประทาน 1 ส่วน/วัน หรือประมาณ 90 กรัม ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินซีอย่างผักและผลไม้จะช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้นด้วย
2. โคลีน (Choline) มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์และพัฒนาการทางสมองของเด็กทารก รวมทั้งมีผลต่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำและความสามารถในการเรียนรู้ด้วย โดยแหล่งอาหารของโคลีน ได้แก่ น้ำนมแม่ เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา ไข่แดง และจมูกข้าวสาลี เป็นต้น
3. สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายในสมองจากสารอนุมูลอิสระ โดยแหล่งอาหารของสารต้านอนุมูลอิสระ คือ ผักและผลไม้ โดยเนื้อผลไม้ที่สุกและมีสีเข้มจะมีสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมาก อย่างไรก็ตาม สารต้านอนุมูลอิสระบางชนิดอย่างวิตามินซีสามารถละลายน้ำหรือถูกทำลายโดยความร้อนได้ ดังนั้น ควรล้างผักและผลไม้ก่อนหั่น แล้วใช้ความร้อนที่ไม่สูงมากในการประกอบอาหารประเภทนี้
ยอดอาหารเด็กบำรุงสมอง
อาหารหลายชนิดมีสารที่จำเป็นต่อการพัฒนาสมองของลูกน้อย อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความฉลาดและความจำให้เจ้าตัวน้อยได้อีกด้วย ดังนี้
1. เนื้อสัตว์ เป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญอย่างสังกะสีและธาตุเหล็ก โดยสังกะสีมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท หากร่างกายมีระดับสังกะสีต่ำอาจส่งผลต่อระบบความจำได้ ส่วนธาตุเหล็กมีหน้าที่ช่วยลำเลียงออกซิเจนไปยังสมอง หากร่างกายอยู่ในภาวะขาดธาตุเหล็กอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิดและสมาธิได้
2. ปลา เนื้อปลาอุดมไปด้วย DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการสมองและสุขภาพหัวใจ โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่า เด็กที่ได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 มาก อาจมีความสามารถในการอ่านหนังสือและสะกดคำได้ดีกว่าเด็กที่ได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 น้อย อีกทั้งยังมีปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมน้อยกว่าด้วย นอกจากนี้ ยังมีสมมติฐานว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นอาจมีระดับความเข้มข้นของกรดไขมันโอเมก้า 3 ในร่างกายต่ำ แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลการวิจัยใดที่ยืนยันถึงสมมติฐานดังกล่าวได้อย่างชัดเจน
3. ไข่ ไข่แดงอุดมไปด้วยโคลีน ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเส้นประสาทและเซลล์สมองเกี่ยวกับความจำและการสื่อสาร แม้ว่าโคลีนอาจละลายในน้ำและถูกทำลายได้ง่ายผ่านกระบวนการประกอบอาหารที่ใช้ความร้อน แต่ไม่ควรให้เด็กรับประทานไข่ดิบ เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะอาหารเป็นพิษได้
4. ผักใบเขียว เช่น ผักโขมและคะน้า เป็นต้น เพราะอุดมไปด้วยโฟเลตและวิตามิน โดยคะน้ายังมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารอาหารต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์สมองด้วย และอาจมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้
5. ข้าวโอ๊ต งานวิจัยหนึ่งพบว่าเด็กอายุ 9-11 ปีที่รับประทานข้าวโอ๊ตในมื้อเช้าเป็นประจำนั้น มีผลการทดสอบเกี่ยวกับความจำระยะสั้นและความตั้งใจในการฟังดีกว่าเด็กที่รับประทานธัญพืชไฟเบอร์ต่ำ โดยนักวิจัยกล่าวว่าอาจเป็นเพราะข้าวโอ๊ตมีไฟเบอร์สูงทำให้การทำงานของระบบย่อยอาหารช้าลง จึงส่งผลให้ร่างกายหลั่งเชื้อเพลิงเพื่อเผาผลาญอาหารไปยังสมองมากขึ้น
6. ถั่วและเมล็ดพืช เป็นแหล่งโปรตีนและกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งยังประกอบด้วยสารอาหารนานาชนิดที่มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง เช่น วิตามินอี วิตามินบีรวม ธาตุเหล็ก และสังกะสี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ควรจำกัดปริมาณการรับประทานถั่วและเมล็ดพืชหากเด็กมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
7. ผลิตภัณฑ์นม เช่น นม ชีส และโยเกิร์ต เป็นต้น เพราะอุดมไปด้วยแคลเซียมที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง นอกจากนี้ แคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบสัญญาณไฟฟ้าในสมองอีกด้วย
8. น้ำเปล่า แม้ว่าน้ำเปล่าจะไม่ได้ประกอบด้วยสารอาหารใด ๆ แต่ก็มีความสำคัญต่อร่างกายมาก ซึ่งการดื่มน้ำนั้นจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้เป็นปกติ และช่วยให้การขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายดำเนินไปตามปกติ
9. กรีกโยเกิร์ต มีไขมันและโปรตีนสูงกว่าโยเกิร์ตทั่วไป ซึ่งช่วยรักษาเซลล์สมองให้มีรูปร่างปกติสำหรับการรับและการส่งข้อมูล โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเตรียมกรีกโยเกิร์ตให้ลูกด้วยการผสมกับธัญพืชที่มีไฟเบอร์อย่างน้อย 3 กรัม บลูเบอร์รี่ และช็อกโกแลต โดยสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอลในอาหารต่าง ๆ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกน้อย ควรไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าเจ้าตัวเล็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการเป็นไปตามวัยหรือไม่
อาหารเด็กบำรุงสมองที่พ่อแม่ควรรู้ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://mmed.com/